เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) อักขกัณฑ์
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[1445] “ทาสมี 4 จำพวก คือ
(1) ทาสในเรือนเบี้ย (2) ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์
(3) ทาสที่ยอมตนเข้าเป็นข้าเฝ้า (4) ทาสเชลย1
[1446] ในหมู่คนมีทาส 4 จำพวกเหล่านี้
แม้ข้าพระองค์ก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว
ความเจริญหรือความเสื่อมจะมีแก่พระราชาก็ตาม
ข้าพระองค์ไปสู่ที่อื่นก็ยังคงเป็นทาสของสมมติเทพอยู่นั่นเอง
มาณพ พระราชาก็จะพึงพระราชทานตัวข้าพเจ้าแก่ท่านโดยธรรม”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1447] “ชัยชนะนี้เป็นชัยชนะครั้งที่ 2 ของข้าพระองค์ในวันนี้
เพราะว่าวิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ถูกข้าพระองค์ถามแล้ว
ได้ชี้แจงปัญหาอย่างแจ่มแจ้ง
พระราชาผู้ประเสริฐไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ
วิธุรบัณฑิตได้กล่าวไว้ถูกต้องดีแล้ว
พระราชาไม่ทรงอนุญาตให้วิธุรบัณฑิตนี้แก่ข้าพระองค์”
(พระราชาตรัสว่า)
[1448] “กัจจานะ หากวิธุรบัณฑิตได้ชี้แจงปัญหาแก่พวกเราอย่างนี้ว่า
เราเป็นทาส เรามิได้เป็นญาติเลย ท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิต
ผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย
พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด”
อักขกัณฑ์ จบ

เชิงอรรถ :
1 ทาสในเรือนเบี้ย หมายถึงทาสผู้เกิดในครรภ์ของนางทาสหรือนางทาสี ทาสที่ยอมตนเป็นข้าเฝ้า
หมายถึงพวกคนที่เกิดในตระกูลผู้รับใช้ ยอมตนเข้าไปเป็นทาสเขา ทาสเชลย หมายถึงพวกคนที่พลัดที่
อยู่ของตน เพราะราชภัย โจรภัย หรือตกเป็นเชลย ยอมไปอยู่ในแผ่นดินอื่น (ขุ.ชา.อ. 10/1445/223)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :409 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ฆราวาสปัญหา
ฆราวาสปัญหา
ปัญหาในการอยู่ครองเรือน
(พระราชาตรัสว่า)
[1449] “ท่านวิธุระ คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนของตน
จะพึงมีความประพฤติที่ปลอดภัยได้อย่างไร
จะพึงมีการสงเคราะห์ได้อย่างไร
[1450] จะพึงมีความไม่เบียดเบียนกันได้อย่างไร
และอย่างไรคนจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์
คนจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้าจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร
[1451] วิธุรบัณฑิตผู้มีคติ มีความเพียร
มีปัญญาเห็นอรรถธรรม
กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลคำนี้
กับพระราชาพระองค์นั้นในธรรมสภานั้นว่า
[1452] “ผู้อยู่ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณ์1เป็นภรรยา
ไม่ควรบริโภคอาหารอันมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว
ไม่ควรส้องเสพกล่าวถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก
เพราะว่าคำอันให้ติดอยู่ในโลกนี้ไม่เป็นทางเจริญแห่งปัญญา
[1453] ผู้อยู่ครองเรือนควรเป็นคนมีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร
เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเห็นประจักษ์
มีความประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง
สงบเสงี่ยม พูดคำไพเราะจับใจ สุภาพอ่อนโยน
[1454] ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร
จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำกิจการงาน
บำรุงสมณะและพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
1 หญิงสาธารณ์ หมายถึงภรรยาของคนอื่น ผู้ครองเรือนไม่พึงประทุษร้าย (เป็นชู้) ในภรรยาของคนอื่น
(ขุ.ชา.อ. 10/1452/226)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :410 }